11 เคล็ดไม่ลับสำหรับการใช้สีในการแต่งบ้าน
จะทาสีห้องแต่งบ้านใหม่ แต่ในหัวยังไม่มีไอเดียอะไรเลย หรือถ้ามีก็เลือกไม่ถูกว่าจะเอาสีไหนดี สีเดียวก็ดูน้อยไป หลายสีก็กลัวแมตช์ไม่เข้ากัน วันนี้สีเบเยอร์ มี เคล็ดไม่ลับในการใช้สี เพื่อเปลี่ยนลุ๊คให้ห้องออกมาดูดี เหมือนมีอินทีเรียมือโปรมาทำให้ มาฝากกัน ลองไปดูทั้ง 11 ไอเดียนี้กันได้เลย
1. The 60-30-10 Rule
สัดส่วนง่ายๆ ที่ใช้ได้เสมอ
ทฤษฎี 60-30-10 เป็นหลักมาตรฐานการใช้สีเบื้องต้น ที่ใครๆก็สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้โดยง่าย ทั้งเจ้าของบ้านมือใหม่หรือนักออกแบบมืออาชีพ การเลือกใช้สีใดสีหนึ่งทาพื้นที่โดยส่วนใหญ่ของห้อง แล้วตัดด้วยอีกเฉดสีที่เข้มกว่า หรือโดดเด่นกว่า จะช่วยทำให้ห้องดูมีลูกเล่น เกิดเป็นมิติของผนังตกแต่งที่น่าสนใจ วิธีนี้เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการให้ห้องมีสีสัน แต่ไม่ต้องการความแน่น หรือพื้นที่ของสีที่เต็มพื้นที่มากเกินไป ในส่วนอีก 10% ของการใช้สี เราสามารถใช้ได้ทั้งกับขอบคิ้วบัว หน้าต่าง หรือนำมาเป็นองค์ประกอบของเฟอร์นิเจอร์ตกแต่ง หมอน ผ้าม่าน ทำให้เกิดการตัดน้ำหนักสี ที่มีจังหวะสวยงาม
การเลือกทาเฉดสีที่ชัดหรือสดบนผนัง 1 ด้าน ให้หลีกเลี่ยงผนังที่มีหน้าต่าง หรือผนังที่เฟอร์นิเจอร์บดบัง เนื่องจากจะทำให้ ความสวยงามของผนังตกแต่ง ถูกลดความโดดเด่นลง ควรเลือกผนังที่เต็มผืน และมีมุมมองสะดุดตา เช่น ผนังด้านหัวเตียง ผนังหลังชั้นวางทีวี หรือโถงที่ผู้คนเดินผ่าน และอาจเสริมของตกแต่งเก๋ๆ เช่นกรอบรูป หรือแจกันดอกไม้ โคมไฟ เพื่อให้ดูครบสมบูรณ์และลงตัว
เลือกใช้สีหลัก 60% ครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่
ตกแต่งไฮไลท์ผนังด้านหนึ่งอีก 30% ด้วยสีที่เข้มหรือสดกว่า
เพิ่มความสะดุดตา ด้วยเฟอร์นิเจอร์หรือของตกแต่ง อีก 10% กับอีกน้ำหนักสีที่แตกต่าง
2. One Color in Room
เล่นสีเดียวทั้งห้อง ก็สวยได้
วิธีการทาสีแบบใช้สองสี อ่อนและเข้ม เป็นที่นิยมในปัจจุบัน ด้วยสาเหตุที่คนไทยยังไม่กล้ามากนัก กับประสบสบการณ์การใช้สีสัน และเพิ่งเริ่มหันเปลี่ยนจากที่เคยใช้สีขาว สีอ่อน และสีครีม ในการตกแต่งมาไม่นาน การทาสีของคนไทย จึงมักที่จะเลือกสีอ่อนมาช่วยเบรกน้ำหนักในพื้นที่หลัก เพื่อดึงความรู้สึกให้การเล่นสีในบ้านไม่แสดงออกถึงความชัดเจนเกินไป เพื่อค่อยๆสร้างความคุ้นเคยในการทดลองใช้สีสัน ... คำว่าทูโทน จึงกลายมาเป็นรูปแบบยอดฮิต สำหรับการทาสีบ้าน ทั้งภายในและภายนอกในปัจจุบัน ...
หากลองเปลี่ยนมุมมองใหม่ๆ กล้าที่จะใช้สีสันที่ที่เราชอบ โดยทาสีเดียวทั้งห้องตามแบบการตกแต่งบ้านของชาวตะวันตก จะทำให้เกิดบรรยากาศของห้องสวยๆ ที่มีกลิ่นอายอบอวล ไปด้วยศิลปะ เกิดเป็นสไตล์ที่น่าดึงดูด ให้ความรู้สึกเต็มตาและอิ่มเอม โดยที่ไม่ต้องตกแต่งด้วยเฟอร์นิเจอร์เพิ่มเติมอีกมากมาย เพราะสี ... ได้กลายเป็นชิ้นงานหลักขององค์ประกอบศิลป์ ที่มีความโดดเด่นชัดเจนอยู่ในตัว
3. Change Color, Change Space
ปรับค่าความสว่างของสี ขนาดพื้นที่ก็เปลี่ยนได้
วิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่ บ้านหลังใหญ่ๆถูกปรับเปลี่ยนมาเป็นรูปแบบการอยู่อาศัยที่ง่ายๆ ที่มีการใช้พื้นที่อย่างลงตัว ห้องและบ้าน ถูกจำกัดให้มีขนาดเล็ดลง คอนโดมิเนียมและทาวน์โฮม เป็นสิ่งปลูกสร้างที่เกิดขึ้นมากมาย สำหรับใครๆ ที่อยากให้ห้องขนาดเล็ก ซึ่งมีพื้นที่จำกัดนั้น ดูโปร่ง โล่ง สบายขึ้น การเลือกใช้สีอ่อน และมีค่าความสว่างที่มากขึ้น จะช่วยสะท้อนแสงให้ห้องดูกว้างและเบาสบายตา แต่ทั้งนี้บางครั้ง การใช้สีลวงตาเพื่อปรับขนาดของพื้นที่ อาจไม่ได้จำเป็นสำหรับผู้ที่ต้องการการตกแต่งบ้านอย่างมีสไตล์ เฉดสีเก๋ๆ อาจเป็นคำตอบที่ใช่มากกว่า กับการสร้างบรรยากาศที่น่าประใจ และมีเอกลักษณ์ในแบบของตนเอง
สำหรับพื้นที่ที่ดูกว้าง จนดูไม่มีจุดนำสายตา การเลือกใช้สีเข้มมาทาบนผนังซักผืน จะช่วยลวงตาดึงระยะให้เข้ามาใกล้ เกิดเป็นมิติที่ทำให้ห้องดูไม่กว้างใหญ่เกินไปจนเวิ้งว้าง และยังช่วยเพิ่มความสวยงามสะดุดตาได้อีกด้วย
ห้องเล็ก เปลี่ยนเป็นใหญ่ เพียงเลือกใช้สีที่อ่อนใส สบายตา
ขณะที่พื้นที่ที่กว้างใหญ่มากไป การให้จังหวะด้วยสีเข้ม
ก็ช่วยทำให้พื้นที่ดูมีมิติได้ ไม่เวิ้งว้าง
4. Roof Comes First
เลือกสีหลังคาก่อน
สำหรับการเลือกสีทาภายนอก บ้านโดยส่วนใหญ่ มักถูกกำหนดข้อจำกัดของสีหลังคามาก่อนในกระบวนการก่อสร้าง เนื่องจากงานทาสีอยู่ในขั้นตอนหลังงานโครงสร้าง เพราะเป็นเรื่องของงานตกแต่ง บางครั้งเราอาจมีสีในใจที่เราชอบหรือสีที่ถูกโฉลกกับเรา แต่เราต้องคำนึงด้วยว่า สีที่เราชอบนั้น เข้ากันกับสีหลังคาที่ถูกเลือกไว้ก่อนด้วยหรือไม่ เพราะหลังคา เป็นส่วนประกอบที่มีพื้นที่ค่อนข้างใหญ่และเด่นชัด เนื่องจากอยู่บนสุดของตัวบ้าน จึงมีอิทธิพลค่อนข้างมากต่อการเลือกกลุ่มสีที่ควรไปด้วยกันได้
หากเป็นไปได้ ลองหันมาคิดถึงเรื่องสีพร้อมๆกับกระบวนการขึ้นโครงสร้าง เพื่อที่จะทำลายกรอบข้อจำกัดของสีหลังคา และนำมาซึ่งสีที่ถูกใจมากที่สุด นอกจากนี้แล้ว วัสดุตกแต่งอื่นๆ เช่นอิฐ ไม้ และกระเบื้อง เราก็ควรต้องคำนึงถึง ให้มีโทนสีที่เข้ากันกับตัวบ้านด้วยเช่นกัน
บ้านส่วนใหญ่ มักถูกกำหนดสีหลังคา ให้มาก่อนการเลือกสีตัวบ้าน
นอกจากเลือกสีตามความชอบแล้ว จึงยังต้องให้ความสำคัญ
ให้สีที่เลือกนั้น เข้ากันกับสีหลังคาด้วยเช่นกัน
5. Upper be Lighter
บนอ่อนล่างเข้ม สูตรสำเร็จบ้านสวย
การวางรูปแบบของสีที่เป็นที่นิยมกับแบบบ้านของคนไทยในปัจจุบัน คือการแบ่งการทาสีเป็นสองชั้น โดยสีชั้นบนนิยมใช้สีที่อ่อนกว่า และทาสีชั้นล่างให้มีน้ำหนักที่มากกว่า เพื่อให้บ้านดูไม่เรียบจนเกินไป และเกิดมิติของชั้นที่สวยงาม วิธีนี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับบ้านชั้นเดียวได้เช่นกัน โดยทาสีเข้มเป็นฐานของตัวบ้านสูงขึ้นมาประมาณ 1 ฟุต ถึง 1 เมตร การวางรูปแบบของการทาสีลักษณะนี้ เจ้าของบ้านสามารถนำไปออกแบบประยุกต์ใช้ได้ไม่ยากนักด้วยตนเอง หากเป็นการวางรูปแบบสีตามแนวตั้ง ก็จัดว่าเป็นอีกรูปแบบที่ดูทันสมัย เหมาะกับบ้านทรงโมเดริ์นรูปแบบใหม่ แต่อาจต้องอาศัยประสบการณ์การเว้นจังหวะของสีที่ลงตัว
การทาสีเดียวทั้งหลังนั้นก็ไม่ผิด กลับสร้างบรรยากาศให้บ้านดูมีเอกลักษณ์ และสไตล์ชัดเจนด้วยสีที่เต็มตา แต่ต้องระมัดระวังการเลือกใช้สี ที่ควรให้เข้ากับรูปแบบของบ้าน และควรมีการตัดชอบเชิงชาย วงกบประตูหน้าต่าง ด้วยสีที่แตกต่าง หรืออาจทาสีส่วนตกแต่งผนังไม้เชอร่า ให้มีความโดดเด่นของน้ำหนักสีที่ต่างไป นอกจากนี้อาจมีองค์ประกอบของวัสดุอื่นๆเช่นหินธรรมชาติหรือไม้ เข้ามาสร้างจังหวะให้ไม่เรียบจนเกินไป
6. White Trimming is “Right” but “Not Always”
ตัดขอบขาว สวย “ง่าย” แต่ไม่ใช่ สวย “ที่สุด”
หลายๆคนเมื่อเลือกสีหลักของตัวบ้าน และห้องเรียบร้อยแล้ว มักเลือกสีขาวมาใช้ในการตัดขอบต่างๆ เนื่องจากตกแต่งง่าย ไม่ต้องคิดมาก และเป็นสีที่เข้าได้กับทุกๆสี เพราะการเลือกสีให้ห้องและตัวบ้าน ก็ใช้เวลามากพอแล้ว
สีขาว เป็นสีที่นำมาตัดกับสีต่างๆได้ดูน่ารักและสบายตาก็จริง แต่หากลองใช้เวลาเพิ่มขึ้นอีกนิด กับองค์ประกอบของสิ่งเล็กๆ ลองเปลี่ยนมาเล่นสีกับวงกบและบานหน้าต่าง ขอบเชิงชายและคิ้วบัว ด้วยโทนสีที่กลมกลืนแต่มีน้ำหนักเพิ่มขึ้น หรือด้วยโทนสีที่มีสีสัน องค์ประกอบเล็กๆ ก็จะกลับกลายเป็นไฮไลท์งานศิลป์ชิ้นสำคัญ สร้างเอกลักษณ์สไตล์การตกแต่งที่เพิ่มมิติสีสันความโดดเด่นได้อย่างสวยงาม
สีขาว มักถูกเลือกใช้บ่อยครั้งในการตัดของบัว คิ้ว หน้าต่างและเชิงชาย
เพราะเข้ากับทุกสีได้โดยง่าย และสบายตา
ลองเปลี่ยนความคิด กล้าที่จะเล่นสี เพิ่มลูกเล่นให้กับองค์ประกอบเหล่านี้ดูบ้าง
ยากขึ้นอีกเพียงนิด แต่ผลลัพธ์ ได้มาซึ่งความสวยงามโดดเด่น ไม่ซ้ำใคร
7. Light Affects Color
แสงเปลี่ยน สีเปลี่ยน
หลายครั้งที่เราเลือกสีจากพัดสี แต่เมื่อนำไปทาจริง กลับรู้สึกว่าแตกต่าง ปัจจัยหนึ่งที่มีผลทำให้เห็นผลลัพธ์เช่นนั้น ก็คือการให้แสงทั้งภายในและภายนอก แสงเป็นปัจจัยสำคัญในการมองเห็นสีที่ถูกต้อง สี เมื่อถูกนำไปทาภายใต้แสงสีส้ม หรือหลอดไฟแบบมีไส้ หรือหลอดไฟที่ให้ค่าแสงแบบ Day Light ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น ก็จะถูกผสมแสงอุ่น ทำให้สีดูเหลืองหรือส้มขึ้น ขณะที่ภายใต้แสงขาวอย่างแสงจากหลอดไฟฟลูออเรสเซนส์ สีจะถูกทำให้เย็นขึ้น ด้วยเหตุนี้ การลวงตาของแสง จึงถูกนำมาใช้ในชั้นวางขายของในซุปเปอร์มาเกต ชั้นขายเนื้อสัตว์ ถูกจัดให้อยู่ภายใต้แสงอุ่นๆ เพื่อให้สีของเนื้อสัตว์ดูแดงขึ้น ขณะที่ผักและผลไม้ ถูกจัดวางให้อยู่ใต้แสงสีขาว เพื่อทำให้ดูสดใหม่อยู่ตลอดเวลา การลวงตาของสีกับแสงภายในห้องก็เช่นเดียวกัน
สำหรับแสงธรรมชาติภายนอก อาคารด้านที่โดนแสง กับด้านที่ไม่โดนแสง ก็ทำให้เราเห็นน้ำหนักสีที่เข้มอ่อนต่างกัน ทั้งๆที่เป็นสีเดียวกัน ดังนั้นการดูพัดสี เพื่อให้เห็นค่าสีที่ถูกต้องที่สุด ควรเลือกดูภายใต้แสงที่เราต้องการใช้จริง หรือหากเป็นการทาสีภายนอก ควรทำความเข้าใจกับแสงธรรมชาติ ที่มีโอกาสทำให้การเห็นค่าสีที่เปลี่ยนแปลงไป
แสง เป็นปัจจัยในการเห็นสีที่แตกต่างไป
สีเดียวกัน เมื่อนำไปทาในห้องที่มีแสงต่างกัน เช่นแสงสีส้ม หรือแสงสีขาว
ผลลัพธ์ของสีที่เรามองเห็น ก็จะแตกต่างกันไป
8. Start Practice “Monotone”
จับคู่สี เริ่มต้นโทนเดียวกันไม่มีพลาด
หลักการเลือกสีให้สวย ไม่ใช่เรื่องยากเกินไปสำหรับเจ้าของบ้าน ที่กำลังทดลองเป็นนักออกแบบมือใหม่ วิธีจับคู่สีแบบ Monotone เป็นวิธีที่ง่าย และเกิดความผิดพลาดน้อยที่สุด ... โดยหากดูจากพัดสี ให้เลือกจับคู่สีอ่อนและเข้มบนพัดสีที่อยู่แผ่นเดียวกันหรือแผ่นข้างๆกันไม่เกิน 3-4 แผ่น เนื่องจากเป็นโทนสีที่ใกล้เคียงกัน และไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้งของความรู้สึกทางสายตา โดยคู่สีทั้งสอง ควรมีสีใดสีหนึ่ง ที่มีค่าของสีขาวผสมอยู่มากกว่า หรือมีค่าความสว่างมากกว่า เพื่อที่จะได้เกิดน้ำหนักที่แตกต่างอย่างชัดเจน การเลือกสีโทนเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน ที่มีค่าความสว่างอ่อนเข้มต่างกันนั้น จะช่วยทำให้บ้านดูกลมกลืน สบายตา ... น้ำหนักของสีแตกต่าง จะช่วยทำให้เกิดลูกเล่นของการออกแบบที่ทำได้ง่ายๆและสวยงาม โดยสามารถประยุกต์ใช้ได้ทั้งภายในห้องและตัวบ้าน
การเล่นสีแบบหลายๆสี ที่อยู่คนละกลุ่มโทนกันนั้น ก็สร้างบรรยากาศที่น่าประทับใจได้เป็นอย่างดี แต่เพียงหากต้องอาศัยประสบการณ์ และคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้การแบ่งจังหวะของเฉดสี มีการจัดวางที่ลงตัว ไม่ขัดแย้ง และรุนแรงเกินไป
การเลือกใช้คู่สีที่ง่ายที่สุด สำหรับมือใหม่ คือการเลือกใช้สีโทนเดียวกัน
โดยเลือกคู่สี จากพัดสีที่อยู่แผ่นเดียวกัน หรือแผ่นใกล้เคียงกัน แต่ให้น้ำหนักของสีต่างกัน
ไม่ว่าคุณจะเป็นนักออกแบบมือสมัครเล่นแค่ไหน วิธีนี้ สวยได้ ... ไม่มีพลาด
9. Cut off what you “Dislike”, to find the answer you “Like”
หากเลือกสีที่ชอบไม่ได้ ลองหาคำตอบว่าสีอะไร ที่ไม่ชอบ
หลายๆคนคงพบเจอปัญหา กับการเสียเวลาไปกับการเลือกเฉดสี จากพัดสีเล่มหนากว่าพันเฉดสี ที่มีความหลายหลายให้เลือกมากมาย และสีไหนๆก็สวยไปหมดจนไม่อาจตัดสินใจได้ เมื่อหาคำตอบไม่ถูกว่าเราชอบสีอะไร และสีไหนที่เหมาะกับการตกแต่งบ้านของเรา ลองค่อยๆตัดตัวเลือกที่ไม่ใช่ และไม่ชอบออกไปทีละนิด ตัวเลือกในตัดสินใจ ก็จะค่อยๆถูกโฟกัสให้เจอคำตอบของสีที่ใช่ได้ง่ายขึ้น
หากยังตัดสินใจไม่ได้จริงๆ อย่าลืมนึกถึงบริการดีๆของเรา เรามีทีมงานให้บริการออกแบบสีผู้เชี่ยวชาญ ที่พร้อมจะให้คำแนะนำในการเลือกสีบ้าน ให้บ้านสีสวยตรงใจ ด้วยประสบการณ์ที่เข้าใจความต้องการของคุณ
ปัญหาการตัดสินใจเลือกสีไม่ได้ ยังเป็นปัญหายอดฮิตของการทาสี ที่ทำให้หมดเปลืองเวลา
กว่าที่จะเลือกสีได้ ต้องคิดแล้วคิดอีก ... หากเลือกไม่ถูกว่า จะทาสีอะไร
ลองเปลี่ยนมาตอบตัวเองว่า สีแบบไหนที่ไม่ชอบ แล้วค่อยๆตัดตัวเลือกออก
พัดสีเล่มหนา กว่าพันเฉดสี ก็จะเหลือตัวเลือกที่ใช่เพียงน้อยนิด ให้เราตัดสินใจได้ง่ายขึ้น
10. the “Right” Method of Color Output
ผลลัพธ์ของสี ต้องดูเมื่อแห้ง และทา 2 เที่ยว
ผลลัพธ์ของการเห็นเฉดของเนื้อสีที่ถูกต้อง จะต้องดูตอนที่สีแห้งแล้วเท่านั้น หากเราทาสีลงไปบนผนัง และสียังไม่แห้งตัว อย่าเพิ่งรีบอ่านค่าของสี ที่ดูแล้วอาจมีความเข้มอ่อนไม่เหมือนกับในพัดสี เมื่อสีแห้งตัวลง จะให้ผลลัพธ์ต่างกับสีที่ยังมีความชื้นอยู่ และความเจือจางของการผสมน้ำก็มีผลเช่นกัน หากผสมเจือจางมากไป สีก็จะใสไม่ขึ้นตัว เพราะความเจือจาง ทำให้เนื้อสีกลบสีของผนังพื้นหลังไม่มิด จึงเกิดค่าของการผสมสีพื้นหลังกับสีที่ทา ทำให้ค่าของสีผิดเพี้ยนไป จึงควรผสมน้ำพอลื่นแปรงเท่านั้น
การทาสีให้ครบจำนวนเที่ยวตามคำแนะนำ ก็มีผลต่อการขึ้นของสีเช่นกัน หากทาเพียงเที่ยวเดียว เนื้อสีที่ปรากฏจะยังชัดเจนไม่เพียงพอที่จะปรากฏสีที่แท้จริง โดยส่วนใหญ่แนะนำให้ทาสองครั้งหลังจากรองพื้นแล้ว เพื่อให้เนื้อสีแน่นและกลบทับสีของผนังพื้นผิวเดิมมิด หรือหากเป็นเฉดสีเข้ม อาจต้องใช้สีที่อ่อนกว่า 1 ค่า ทาเป็นสีพื้นหลังก่อน เพื่อที่สีเข้มจะได้ขึ้นสีได้ง่ายขึ้น
อย่าเพิ่งตกใจ เมื่อเฉดสีที่ทาลงไป ไม่ใช่อย่างที่คิด
ทำขั้นตอนให้ถูกวิธี รอดูสีอีกครั้งเมื่อแห้ง และทาทับให้ครบ 2 เที่ยว
แล้วจะพบความเปลี่ยนแปลงของผลลัพธ์การมองเห็นสีที่ถูกต้อง
11. Care Beauty and Happiness
ดูความสวยงาม และความรู้สึก
สี ไม่ใช่เพียงแต่แสดงลักษณะทางกายภาพ ที่ให้ความสวยงาม แต่หากยังมีผลมากมายต่อการอยู่อาศัย ไม่ว่าจะเป็นบ้าน หรือพื้นที่สาธารณะ การนำไปตกแต่งร้านค้า ร้านอาหาร ก็มีผลต่อความรู้สึกของผู้เข้าใช้ทั้งสิ้น เพราะสีต่างก็มีความหมายในตัว บางสีที่ดูสวยในช่วงเวลาแรกที่เห็น เมื่ออยู่นานอาจทำให้รู้สึกอึดอัด บางสีที่ดูอบอุ่น แต่หากได้อยู่นานๆ อาจรู้สึกเบื่อ หรือไม่สดใส การค้นหาความรู้สึกของสี ที่มีผลกระทบต่อจิตใจของผู้อยู่อาศัย ซึ่งมีรสนิยมความชอบที่แตกต่างกันไป จึงเป็นตัวแปรที่ต้องนำมาตัดสินใจคู่กัน ห้องบางห้อง อาจเหมาะสำหรับสีที่โดดเด่น เล่นสีสัน แต่ในขณะที่ห้องบางห้อง อาจต้องเลือกใช้สีที่ผ่อนคลาย หรือสร้างสมาธิ ลักษณะการใช้งานจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องคำนึงถึง
การตกแต่งด้วยเฉดสีที่แตกต่างกัน ในห้องแต่ละห้องภายในบ้าน ก็สามารถสร้างสีสัน ช่วยปรับเปลี่ยนความรู้สึกในแต่ละวันได้ ทำให้แต่ละพื้นที่ของบ้านมีความหลากหลายของบรรยากาศ ไม่น่าเบื่อ และอยู่อาศัยได้อย่างมีความสุขในทุกๆวัน