โลกร้อนขึ้นกี่องศาต่อปี และจะเป็นอย่างไรหากโลกร้อนทะลุจุดเดือด

โลกร้อนขึ้นกี่องศา

ทุกคนน่าจะรู้สึกได้ว่าโลกร้อนขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก โดยเฉพาะในช่วงหน้าร้อนเดือนเมษายนที่หลายจังหวัดของไทยร้อนระอุทะลุ 40 องศาเซลเซียส แต่คำว่าร้อนมากในที่นี้คือเท่าไหร่ โลกเราร้อนขึ้นกี่องศาแล้ว และจะเป็นอย่างไรหากโลกยิ่งร้อนจนทะลุจุดเดือด มาศึกษาเรื่องนี้ไปพร้อมกัน   

 

โลกร้อนขึ้นกี่องศา?

อันที่จริง อุณหภูมิโลกเรานั้นสูงขึ้นเรื่อยมานับตั้งแต่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ณ ปัจจุบันมีค่าเฉลี่ยที่ 1.1 องศาเซลเซียส โดยหลัก ๆ มาจากการกระทำของมนุษย์ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่าง คาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) สู่ชั้นบรรยากาศ ส่งผลให้อุณหภูมิโลกมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นเรื่อย ๆ และในช่วงทศวรรษ (ปี 2015-2023) ที่ผ่านมาก็ถือเป็นช่วงปีที่ร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์โลก   

จากสถิติเมื่อไม่กี่ปีก่อนที่บอกกับเราว่าปี 2016 และ 2020 เป็นปีที่มีอุณหภูมิเฉลี่ยสูง 2 อันดับแรก คือ 1.03 และ 1.01 องศาเซลเซียสตามลำดับ แต่ปัจจุบันถูกโค่นด้วยปี 2023 อุณหภูมิเฉลี่ย 1.18 องศาเซลเซียส สูงสุดเท่าที่เคยบันทึกมา ซึ่งก็เป็นเป็นไปตามคาดการณ์ของนักวิทยาศาสตร์จากองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก 

Global temperature

ที่น่ากลัวไปกว่านั้นยังมีการประเมินอีกว่า หากมนุษย์ยังทำกิจกรรมปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศอย่างต่อเนื่อง ภายในปี 2027 หรือไม่เกิน 5 ปีข้างหน้า โลกอาจมีอุณหภูมิสูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นเพดานตัวเลขที่ตั้งเป้าไว้ตามข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) กำหนดขึ้นเพื่อแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงไปกว่านี้นั่นเอง

หนึ่งจุดสำคัญของการขยับจากโลกร้อนไปสู่โลกเดือดอยู่ที่ตรงก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งมาจากการสกัดและเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างถ่านหิน น้ำมัน หรือก๊าซธรรมชาติ ไฟป่า และกระบวนการทางธรรมชาติอย่างภูเขาไฟระเบิด ซึ่งในปัจจุบันความเข้มข้นของคาร์บอนเฉลี่ยในบรรยากาศที่วัดได้จะอยู่ที่ 426 ส่วนต่อล้าน (parts per million: ppm) เพิ่มขึ้นกว่า 50% เมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม

หากวันที่ความเข้มข้นของคาร์บอนพุ่งสูงกว่า 500 ppm มาถึง เราอาจจะได้เห็นครอบน้ำแข็ง (Ice Cap) ละลายเป็นวงกว้าง และกรณีที่เลวร้ายที่สุดหากแตะถึง 1,000 ppm อาจไม่มีมนุษย์คนไหนดำรงชีวิตบนโลกนี้ได้หรือใช้ชีวิตได้ลำบากมาก ประหนึ่งย้อนกลับไปยังโลกเมื่อ 50 ล้านปีก่อน เพราะอุณหภูมิเฉลี่ยจะเพิ่มขึ้นกว่า 10 องศาเซลเซียส น้ำแข็งในโลกจะเหลือน้อยมาก และน้ำทะเลจะสูงขึ้นกว่า 60 เมตร   

carbon parts per million

 

ผลกระทบจากโลกร้อนขึ้นจนทะลุจุดเดือด

การเพิ่มขึ้นอุณหภูมิโลกอันเนื่องมาจากก๊าซเรือนกระจกส่งผลอย่างมากต่อธรรมชาติและสิ่งมีชีวิต แม้จะเพิ่มเพียงหลักทศนิยมก็ไม่อาจละเลยไปได้ เพราะตัวเลขที่บวกเพียง 0.1 องศาเซลเซียส อาจเปลี่ยนรักษ์โลกเป็นทำร้ายโลกได้เลย 

ซึ่งจากอุณหภูมิเฉลี่ย 1.1 องศาเซลเซียสในปัจจุบัน ก็ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่อโลกมากมาย เช่น สภาพอากาศที่รุนแรง เลวร้าย หรือเกิดบ่อยขึ้นอย่าง ภัยแล้ง คลื่นความร้อน ฝนตกหนัก ธารน้ำแข็งละลายเร็วขึ้น ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น หรือมหาสมุทรอุ่นขึ้น ซึ่งนำไปสู่การสูญเสียทั้งทรัพยากร อาหาร ชีวิต รวมถึงทรัพย์สินด้วย

Global temperature

ลองมาดูตัวอย่างคาดการณ์ผลกระทบหรือความเปลี่ยนแปลงจากอุณหภูมิที่สูงขึ้น 1.5 และ 2 องศาเซลเซียส เพิ่มเติมกัน

 

อุณหภูมิเพิ่มขึ้น 1.5 องศาเซลเซียส

  • วันที่ร้อนมากในพื้นที่เขตละติจูดกลางจะร้อนขึ้น 3 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม
  • 14% ของประชากรโลกจะเผชิญกับคลื่นความร้อนสูงทุก 5 ปี
  • ระดับน้ำทะเลจะสูงขึ้นกว่า 0.40 เมตร ภายในปี 2100  
  • ปะการังเสี่ยงลดลงกว่า 70-90%
  • ปริมาณการจับสัตว์น้ำต่อปีจะลดลงราว 1.5 ล้านตัน 
  • ผลผลิตของข้าวโพดในพื้นที่เขตร้อนจะลดลงราว 3%
  • 4% ของสัตว์มีกระดูกสันหลัง 6% แมลงและ 8% ของพืช จะมีความหลากหลายทางชีวภาพลดลง

 

อุณหภูมิเพิ่มขึ้น 2 องศาเซลเซียส  

  • วันที่ร้อนมากในพื้นที่เขตละติจูดกลางจะร้อนขึ้น 4 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม
  • 37% ของประชากรโลกจะเผชิญกับคลื่นความร้อนสูงทุก 5 ปี
  • ระดับน้ำทะเลจะสูงขึ้นกว่า 0.46 เมตร ภายในปี 2100  
  • ปะการังเสี่ยงลดลงกว่า 99%
  • ปริมาณการจับสัตว์น้ำต่อปีจะลดลงราว 3 ล้านตัน
  • ผลผลิตของข้าวโพดในพื้นที่เขตร้อนจะลดลงราว 7%
  • 8% ของสัตว์มีกระดูกสันหลัง 16% ของพืช และ 18% แมลง จะมีความหลากหลายทางชีวภาพลดลง 

ผลกระทบโลกร้อน

 

อุณหภูมิที่สูงขึ้นไม่ว่าจะ 1.5 หรือ 2 องศาเซลเซียส ยังอาจนำไปสู่ปัญหาด้านอาหาร ปัญหาสุขภาพ และปัญหาความเป็นอยู่ได้ด้วย โดยคนในบางพื้นที่อาจไร้ที่อยู่ ความร้อนทวีความรุนแรงจนเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพและการเสียชีวิต การระบาดของโรคติดต่อจากแมลงอย่างมาลาเรียหรือไข้เลือดออก รวมถึงการขาดแคลนอาหาร โดยเฉพาะข้าวโพด ข้าว ข้าวสาลี หรือธัญพืชต่าง ๆ 

ไม่ว่าโลกร้อนขึ้นกี่องศาก็ล้วนส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อสิ่งแวดล้อมและสิ่งมีชีวิต ซึ่งนี่ถือเป็นความรับผิดชอบของทุกคนในการตระหนักรู้และหันกลับมาร่วมมือร่วมใจรักษ์โลก ด้วยจุดเริ่มต้น Paint Beger, Paint the World Green สู่เป้าหมาย Net Zero Emission หรือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ เพื่อลดผลกระทบต่อโลกและสิ่งแวดล้อมให้ได้มากที่สุดก่อนส่งต่อให้ลูกหลานของเราในอนาคต

 

References:

SHARE :
กรุณาเลือกหมวดหมู่การค้นหา และพิมพ์คำค้นหาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง