กาวยาแนว หรือ ซีลแลนท์ คือวัสดุที่ใช้สำหรับอุดรอยแตกร้าว หรือรอยต่อต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอกของบ้านและอาคาร เพื่อป้องกันอากาศ แก๊ส เสียง ฝุ่น ควัน หรือน้ำที่จะซึมเข้ามาภายใน รวมถึงกันความเย็นจากเครื่องปรับอากาศในบ้านไม่ให้รั่วออกไป
โดยกาวยาแนวที่เรามักเห็นบ่อย ๆ ตามร้านขายวัสดุก่อสร้างจะเป็น กาวยาแนวแบบหลอด ที่ถูกออกแบบมาให้ใช้งานง่าย และใช้ได้กับวัสดุหลากหลายชนิดยิ่งขึ้น ปัจจุบันมีอยู่หลายประเภท ได้แก่ กาวอะคริลิค กาวซิลิโคน และกาวพียู ซึ่งยาแนวแต่ละประเภทมีคุณสมบัติบางอย่างที่แตกต่างกัน ดังนั้นเราควรต้องทำความเข้าใจวิธีการใช้งาน วัสดุที่ใช้ร่วมกัน หรือบริเวณที่จะนำไปใช้ จึงจะทำให้ใช้ผลิตภัณฑ์ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
ประเภทของกาวยาแนวแบบหลอด
ประเภทของยาแนวแบบหลอด สามารถแบ่งได้ตามส่วนประกอบหลักที่ใช้ ได้แก่ อะคริลิก ซิลิโคน และโพลียูรีเทน ซึ่งซีลแลนท์ทั้งสามชนิดจะมีความแตกต่างกันอย่างไร ลองไปดูกันได้เลย
กาวอะคริลิค (แด๊ป)
กาวอะคริลิค หรือ อะคริลิกซีลแลนท์ มีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า แด๊ป (DAP) ถือว่าเป็นกาวยาแนวที่ได้รับความนิยมมากที่สุด เนื่องจากใช้งานได้หลายวัสดุ เช่น ซีเมนต์ คอนกรีต อิฐ หรือแผ่นพรีแคสต์ และมีราคาต่ำที่สุดในบรรดายาแนวแบบหลอดทั้งหมด ข้อดีของแด๊ปคือสามารถทาสีทับได้ และไม่ทิ้งคราบบนวัสดุที่มีรูพรุน แต่สิ่งที่ต้องควรระวังคือกาวอะคริลิคจะทนชื้นได้ไม่ดี และไม่ได้ยืดหยุ่นมาก จึงไม่ควรนำไปใช้กับรอยแตกบริเวณที่มีการขยับตัวบ่อย หรือบริเวณที่ต้องเปียกชื้นสักเท่าไหร่
ด้วยเหตุนี้มันจึงเหมาะกับการใช้งานภายในมากกว่าภายนอกครับ บริเวณใช้งานที่เหมาะสม ได้แก่ รอยต่อ หรือรอยแตกร้าวขนาดเล็ก-กลาง บริเวณขอบมุมประตู หน้าต่าง หรือผนังปูนภายในอาคาร งานติดตั้งเฟรมประตู หน้าต่าง หรือเฟอร์นิเจอร์บิวท์อินท์ รวมถึงรอยต่อของบริเวณที่ต้องการลดเสียงรบกวน เป็นต้น รุ่นกาวอะคริลิกของเบเยอร์ เช่น Beger Acrylic Seal
กาวซิลิโคน
กาวซิลิโคน หรือ ยาแนวซิลิโคน ดูจากชื่อก็น่าจะพอรู้กันอยู่แล้วว่ามีซิลิโคนเป็นส่วนประกอบหลัก ตอนใช้งานจะมีลักษณะเหลวแต่เมื่อแห้งแล้วจะแข็งและเหนียว มีทั้งแบบสีใส(ขุ่น) สีขาว สีเทา และสีดำ สามารถนำไปใช้งานได้หลายรูปแบบ เช่น การอุดรอยต่อกระจก เซรามิก ในห้องครัว หรือใช้ติดสุขภัณฑ์ในห้องน้ำ
ข้อดีของซิลิโคนคือเรื่องความยืดหยุ่นที่สูงมาก สามารถใช้กับรอยต่อหรือรอยแตกร้าวที่เคลื่อนตัวสูงได้ดี แห้งไว อีกทั้งยังทนสภาวะอากาศได้อย่างดี ทนฝน ทนแดด ทนรังสียูวี แต่ข้อเสียของซิลิโคนคือมันไม่สามารถทาสีทับได้นั่นเอง สำหรับซิลิโคนที่วางขายอยู่ในตอนนี้จะแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิด คือ ซิลิโคนชนิดมีกรด และซิลโคนชนิดไม่มีกรด
- กาวซิลิโคนชนิดมีกรด (Acetic Cure Silicone) จะมีกลิ่นเปรี้ยวฉุนเตะจมูก คล้ายกลิ่นน้ำส้มสายชู เนื่องจากมีส่วนผสมที่เป็นกรดบางอย่างที่ช่วยให้แห้งไว และมีแรงยึดเกาะที่สูงกว่าแบบไม่มีกรด แต่ด้วยความที่มันเป็นกรดนี้เองมันจึงมีฤทธิ์กัดกร่อน จึงไม่เหมาะกับการใช้งานบนวัสดุประเภทโลหะ หรือหินอ่อน ที่อาจทำให้เกิดการผุกร่อนหรือรอยด่าง ซึ่งตอนใช้งานก็ควรสวมถุงมือยาง หน้ากาก และแว่นตา เพื่อความปลอดภัยด้วย ซิลิโคนสูตรมีกรดค่อนข้างเป็นที่นิยมเนื่องจากหาซื้อง่ายและราคาไม่แพงครับ เช่น Beger Silicone Seal
- กาวซิลิโคนชนิดไม่มีกรด (Neutral Cure Silicone) เช่น Beger Premium Silicone Seal ทำมาจากซิลิโคน 100% กลิ่นไม่ฉุน จึงเหมาะกับการใช้งานกับวัสดุแทบทุกประเภท เซรามิก หินอ่อน รวมถึงโลหะ กาวซิลิโคนชนิดนี้มีความยืดหยุ่นสูงกว่า 500% อย่างไรก็ตามถึงมันจะดูอเนกประสงค์ แต่จุดที่ชนิดมีกรดทำได้ดีกว่าคือเรื่องความทนทาน และการแห้งเร็ว เช่น Beger Premium Silicone Seal
กาวพียู
เป็นกาวยาแนวที่มีความทนที่สุด ยืดหยุ่นสูงที่สุด ในบรรดากาวยาแนวทั้งหมด มีส่วนประกอบหลักเป็นโพลียูรีเทน สามารถใช้งานกับวัสดุได้เกือบทุกประเภท ทั้งปูน เหล็ก ไม้ ไฟเบอร์ซีเมนต์ เซรามิก หิน หรือวัสดุที่มีรูพรุนอื่น ๆ จึงมักเห็นช่างนิยมใช้อุดรอยแตกรอยต่อของหลังคา ที่มีปัญหารั่วซึมบ่อย ๆ ในหน้าฝน หรือใช้ติดรอยต่อระหว่างผนังสำเร็จรูป (Precast) รวมถึงใช้กับรอยต่องานพื้นคอนกรีตได้ด้วย ซีลแลนท์ประเภทพียูแบบนี้สามารถทาสีทับได้ ด้วยคุณสมบัติที่ดีขนาดนี้จึงแลกมาด้วยราคาค่าตัวที่สูงกว่ากาวยาแนวชนิดอื่น ๆ แต่ในแง่การใช้งานก็ถือว่าทน คุ้มค่า เช่น Beger PU Seal ที่ยืดหยุ่นได้สูงถึง 800%
สรุปความแตกต่าง กาวยาแนว อะคริลิค ซิลิโคน และพียู ต่างกันอย่างไร
เพื่อความเข้าใจง่าย ๆ คุณสามารถดูสรุปความแตกต่างของกาวยาแนวแต่ละประเภทได้จากตารางด้านล่างนี้
คุณสมบัติ/ชนิดกาว | อะคริลิค | ซิลิโคน (มีกรด) | ซิลิโคน (ไม่มีกรด) | พียู |
การทาสี | ทาทับได้ | ทาทับไม่ได้ | ทาทับไม่ได้ | ทาทับได้ |
การยุบตัว | น้อย | น้อยมาก | น้อยมาก | น้อยมาก |
การแห้งตัว* | ปานกลาง | เร็ว | เร็วมาก | เร็ว |
การรับแรง | ปานกลาง | มาก | มาก | มากที่สุด |
ความยืนหยุ่นตัว | 100% | 300% | 500% | 800% |
ความทนทาน | ปานกลาง | ดี | ดี | ดีเยี่ยม |
ความทนรังสี UV | ปานกลาง | ดีเยี่ยม | ดีเยี่ยม | ดีเยี่ยม |
พื้นที่ใช้งาน |
|
|
|
|
จุดสังเกต | เหมาะสำหรับงานภายในมากกว่า และไม่เหมาะกับบริเวณที่เปียกชื้น |
มีกลิ่นฉุน ไม่เหมาะกับวัสดุประเภทโลหะ และหินอ่อน |
- | - |
ชื่อรุ่น |
Beger Acrylic Seal ราคา 45 - 50 บาท* |
Beger Silicone Seal ราคา 95 - 105 บาท* |
Beger Premium Silicone Seal ราคา 130 - 160 บาท* |
Beger PU Seal** ราคา 200 - 280 บาท* |
เฉดสี | ขาว | ใส , ขาว , ดำ , เทา |
ใส , ขาว , ดำ , เทา |
ขาว , เทา |
*ความไวในการแห้งตัวขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ | ราคาสินค้าอาจแตกต่างกันตามแต่ละร้านค้าโปรดตรวจสอบจากร้านค้าตัวแทนจำหน่ายใกล้บ้านคุณ
** สำหรับเบเยอร์ พียู ซีล รุ่นนี้จะมีขายในรูปแบบไส้กรอก ขนาด 600 ml. ด้วยนะครับ
วิธีการใช้งานกาวยาแนว
ขั้นตอนที่ 1 เตรียมพื้นผิว ทำความสะอาดบริเวณที่ต้องการจะใช้
ทำความสะอาด บริเวณที่ต้องการอุดโป๊วรอยแตกร้าว หรือรอยต่อ ให้ปราศจากสิ่งสกปรกต่าง ๆ ทั้งคราบน้ำมัน คราบกาวเก่าออกให้หมด เพื่อประสิทธิภาพสูงสุด
ขั้นตอนที่ 2 ประกอบกาวยาแนว
ตัดจุกหลอดพลาสติกเป็นแนวเฉียง ตัดปลายกระบอกกาวยาแนวออก
หมุนสวมจุกพลาสติกเข้ากับตัวหลอดให้แน่น แลัวนำไปติดตั้งเข้ากับปืนยิงกาวยาแนว
ขั้นตอนที่ 3 ยิงกาวยาแนวในบริเวณที่ต้องการ
นำใช้ปลายหลอดสัมผัสรอยต่อหรือรอยร้าวที่ต้องการซ่อมแซม ยิงให้เนื้อผลิตภัณฑ์เต็มร่อง รอยต่อ รอยแตก ในบริเวณที่ต้องการ แล้วใช้มือปาดให้เรียบเสมอกัน เพื่อความปลอดภัยแนะนำให้สวมถุงมือยาง แว่นตา และหน้ากากขณะใช้งาน
ขั้นตอนที่ 4 เก็บงานและเตรียมทาสี
เช็ดทำความสะอาดผลิตภัณฑ์ส่วนเกินจากรอยต่อที่ซ่อมแซมแล้ว ด้วยฟองน้ำหรือผ้าชุบน้ำหมาด ๆ กรณีต้องการทาสีทับควรปล่อยให้กาวยาแนวแห้งสนิทอย่างน้อย 24 - 48 ชั่วโมง แล้วจึงค่อยทาสีทับตามระบบ ได้แก่ ทาสีรองพื้น 1 เที่ยว และสีทับหน้า 2 เที่ยว
คำถามเกี่ยวกับกาวยาแนวแบบหลอดที่พบบ่อย
เราสามารถเอากาวยาแนวแบบหลอดไปใช้แทนกาวยาแนวกระเบื้องได้หรือไม่
- ไม่แนะนำให้ใช้แทนกันครับ เนื่องจาก กาวยาแนวกระเบื้อง อย่างเบเยอร์ ไทล์บอนด์ พลัส จะมีคุณสมบัติที่เหมาะสมกับการใช้งานมากกว่า เช่น ความแข็งแรง ไม่จับฝุ่น การป้องกันเชื้อรา กันทนต่อความชื้นและน้ำยาทำความสะอาด รวมถึงเมื่อเทียบพื้นที่ใช้งานกับราคาหากใช้กาวยาแนวแบบหลอดจะสิ้นเปลืองมากกว่ากันพอสมควรเลยครับ
อายุการใช้งานของกาวยาแนวแต่ละชนิดคือกี่ปี
- กาวอะคริลิกมีอายุการใช้งานประมาณ 3-5 ปี
- กาวซิลิโคนมีอายุการใช้งานประมาณ 5-10 ปี
- กาวพียูมีอายุการใช้งานประมาณ 5-10 ปี
หมายเหตุ : อายุของกาวยาแนวขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของบริเวณที่ใช้ การเตรียมพื้นผิวดีจะช่วยยืดอายุการใช้งานได้ รวมถึงขึ้นอยู่กับเกรดปีของสีทับหน้า
เก็บรักษากาวยาแนวยังไง
- กาวยาแนวทุกชนิดมีอายุการเก็บรักษา 1 ปี หลักจากวันผลิต และควรเก็บในที่ร่ม อุณหภูมิไม่เกิน 30°C (อุณหภูมิห้อง) หลีกเลี่ยงแสงแดด และควรใช้ให้หมดหลังจากเปิดใช้งานแล้ว เนื่องจากอาจจะมีอากาศรั่วเข้าไป ทำให้กาวแข็งตัว หรือสารเคมีด้านในเสื่อมประสิทธิภาพครับ แต่ถ้าหากต้องการเก็บสามารถผนึกจุกไม่ให้อากาศเข้าและเก็บต่อได้อีกระยะหนึ่ง
หากกาวยาแนวเปื้อนมือ หรือเปื้อนเสื้อผ้าล้างออกยังไง
- คุณสามารถล้างกาวยาแนวที่เปื้อนมือคุณสามารถล้างออกได้ด้วยสบู่ น้ำยาล้างจาน แอลกอฮอล์ล้างแผล หรือน้ำยาล้างเล็บที่มีอะซิโตน แต่ห้ามล้างด้วยทินเนอร์เด็ดขาด เพราะอาจจะทำอันตรายต่อมือได้
- หากกาวยาแนวเปื้อนเสื้อผ้า ควรรีบนำไปซักออกด้วยน้ำอุ่นและผงซักฟอกตามปกติ ขยี้แรง ๆ จนสะอาด ไม่ควรปล่อยให้คราบแห้งติด ซึ่งหลังจากซักอาจจะยังคงเหลือคราบที่เกิดจากกรดในยาแนวได้
แม้ว่า กาวยาแนว จะเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถหาซื้อมาใช้เองได้ง่าย แต่ก็ต้องใช้อย่างระมัดระวัง เพราะอย่างที่กล่าวไปกาวแต่ละประเภทล้วนมีข้อจำกัดบางอย่างที่หากเลือกใช้ไม่เหมาะสมกับงาน ก็อาจทำให้ความทนทานลดลง หรืออาจสร้างปัญหาตามมา ซึ่งตัวอย่างที่พบบ่อยก็ เช่น การสึกกร่อน การหลุดล่อนก่อนเวลา การนำกาวซิลิโคนชนิดมีกรดไปใช้กับงานเหล็ก หรือการนำแด๊ปไปใช้ภายนอกบ้านที่เปียกชื้น เป็นต้น