หากพูดถึงพื้นอีพ็อกซี่ (Epoxy) หลายคนคงจะคุ้นหูกันดีในเรื่องของความอึด ถึก ทน เพราะพื้นประเภทนี้ทนทานสูงมาก ทั้งยังมีคุณสมบัติอื่น ๆ ที่ช่วยเสริมแกร่งให้กับพื้นมากด้วย เช่น ทนกรดด่าง ทนแรงขีดข่วน ทนแรงกระแทก ทนคราบสกปรก ไปจนถึงซ่อมแซมง่าย
ความพิเศษเหล่านี้แลกมาด้วยขั้นตอนที่มากขึ้นและใช้ความระมัดระวังไม่น้อย เบเยอร์จึงอยากชวนทุกคนไปทำความรู้จักกับพื้นอีพ็อกซี่ให้มากขึ้นและลองมาดูวิธีเคลือบพื้นอีพ็อกซี่ให้ทนทานแบบแจ่มๆ กันครับ
พื้นอีพ็อกซี่ (Epoxy) คืออะไร
ตามธรรมชาติแล้ววัสดุปูพื้นผิว เช่น คอนกรีต เซรามิค หินอ่อน หินแกรนิต หรือหินธรรมชาติจะมีรูพรุนและรอยต่อระหว่างแผ่น จึงอาจเป็นแหล่งสะสมของเชื้อรา เชื้อโรค รวมถึงคราบสกปรกต่าง ๆ ได้ ทั้งยังลำบากในการซ่อมแซม สีอีพ็อกซี่ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มสีอุตสาหกรรมที่มีความแข็งแรง ทนทาน ยืดหยุ่น ยึดเกาะได้ดี ปกปิดเรียบเนียนไร้รอยต่อ มีสีสันหลากหลายและยังให้ความมันเงาสูงพิเศษจึงเป็นทางออกสำหรับงานพื้นทุกประเภท โดยเฉพาะพื้นผิวที่ต้องการความทนทานสูงและพื้นที่ที่ต้องการความสะอาดสูงครับ
โดยพื้นอีพ็อกซี่ (Epoxy) คือ การเคลือบพื้นผิวด้วยสีอีพ็อกซี่ชนิด 2 ส่วนผสม ซึ่งเป็นการนำสีและสารเร่งการแข็งตัว (Part A และ B) มาผสมให้เข้ากันกันในอัตราส่วนที่กำหนด เมื่อสารเกิดปฏิกิริยาต่อกันก็จะได้คุณสมบัติที่พร้อมใช้เคลือบพื้นผิว โดยมักเคลือบพื้นอย่างเต็มระบบสีทั้งสีรองพื้นและสีทับหน้า เพื่อให้ได้ความหนาที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพสูงสุด
ประเภทของพื้นอีพ็อกซี่ (Epoxy)
โดยทั่วไป พื้นอีพ็อกซี่จะแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก ได้แก่ Epoxy Coating และ Epoxy Self-Leveling ซึ่งจะมีรายละเอียดและความต่างกันดังนี้ครับ
1. พื้น Epoxy Coating
เป็นการเคลือบพื้นผิวด้วยการกลิ้งสี ให้ความหนาพอประมาณ มักเคลือบหนาราว 0.3-0.45 มิลลิเมตร เหมาะสำหรับงานธรรมดา ไม่ต้องรับน้ำหนักมากนัก งานอุตสาหกรรมยานยนต์ สถานีดับเพลิง ทางเดิน ลานจอดรถ สถานศึกษา คลังสินค้า โรงงาน พื้นที่ทนการสึกหรอหรือรอยขีดข่วน
โดยสีทับหน้าอีพ็อกซี่สำหรับพื้นชนิดนี้ก็มี Beger DuraGuard ชนิดฟิล์มบาง (0.04-0.06 มิลลิเมตร) และ Beger Durathane ชนิดฟิล์มบาง (0.03-0.05 มิลลิเมตร)
2. พื้น Epoxy Self-Leveling
เป็นการเคลือบผิวด้วยสีอีพ็อกซี่ความหนาปานกลางถึงสูง ตั้งแต่ 2 มิลลิเมตรขึ้นไป มาพร้อมกับคุณสมบัติปรับระดับผิวเรียนด้วยตัวเอง (Self-Leveling) และเงางามพิเศษ แต่อาจจำเป็นต้องให้ช่างที่มีความรู้และความชำนาญเป็นผู้ติดตั้ง เหมาะกับพื้นที่ที่ต้องใช้งานหนัก รับน้ำหนักมาก ลานจอดรถ ทางเดินรถโฟล์คลิฟท์ โชว์รูมรถ สายการผลิตคลังสินค้า ศูนย์จัดแสดงสินค้า หรือโรงเก็บเครื่องบิน
ตัวอย่างสีทับหน้าอีพ็อกซี่ที่ใช้สำหรับพื้น Epoxy Self-Leveling ก็เช่น Beger FlooraGuard 21 HB ชนิดฟิล์มหนา (0.3-1 มิลลิเมตร) และ Beger FlooraGuard 41 ชนิดฟิล์มหนาพิเศษ (1-3 มิลลิเมตร)
*1 มิลลิเมตร = 1,000 ไมครอน
เฉดสีแนะนำสำหรับพื้นอีพ็อกซี่
*เฉดสีอาจคลาดเคลื่อนจากการแสดงผลหน้าจอของอุปกรณ์ที่แตกต่างกัน
*ตัวอย่างสีทั้งหมดใกล้เคียงกับสีจริงเท่านั้น
วิธีเปลี่ยนพื้นภายใน เสริมแกร่งให้เป็นพื้นอีพ็อกซี่
ขั้นตอนที่ 1 ทำความสะอาดพื้นผิว
ทำความสะอาดบริเวณที่เคลือบพื้นผิวให้ปราศจากฝุ่นผงและคราบสกปรกต่าง ๆ เพื่อประสิทธิภาพสูงสุด ทิ้งให้แห้ง จากนั้นติดเทปกาวเพื่อกำหนดขอบเขตในการทาสีอีพ็อกซี่
ขั้นตอนที่ 2 ทาสีรองพื้นอีพ็อกซี่
ผสมสีรองพื้นอีพ็อกซี่ชนิดใส Beger Concrete Sealer ระบบ 2 ส่วนผสม ในอัตราส่วน A=4 : B=1 (แนะนำให้ผสม Beger Thinner M-68 อัตราส่วน 5%) หลังทาสีรองพื้นควรทิ้งให้แห้งอย่างน้อย 6 ชั่วโมงก่อนทาสีชั้นถัดไป
ขั้นตอนที่ 3 ทาสีทับหน้าอีพ็อกซี่
ผสมสีทับหน้าอีพ็อกซี่ Beger FlooraGuard 21 HB Coating ระบบ 2 ส่วนผสม ในอัตราส่วน A=2 : B=1 ที่ความหนา 300 ไมครอนขึ้นไป โดยใช้ลูกกลิ้งหนาม กลิ้งให้ได้ความหนาและไล่ฟองอากาศออกไป จากนั้นทิ้งให้แห้ง 1 วันก่อนเข้าใช้งาน