คาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint) กับความสำคัญต่อองค์กรและสิ่งแวดล้อม

carbon footprint

โลกเดือด น้ำท่วม ผลผลิตลดลง ล้วนเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่สังคมโลกกำลังเผชิญร่วมกัน นี่เป็นผลกระทบจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของระดับภาคอุตสาหกรรมที่ปฏิเสธไม่ได้ ทำให้หลายองค์กรในวันนี้ต้องย้อนกลับไปรับผิดชอบสังคมในสิ่งที่เคยละเลย โดยใช้สิ่งที่เรียกว่า คาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint) เพื่อกำหนดแนวทางการใช้พลังงานและลดการปล่อยก๊าซอย่างมีประสิทธิภาพ

 

คาร์บอน (CO2) คืออะไร มีที่มาจากไหน?

ต้องเกริ่นก่อนว่า คาร์บอนหรือคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbondioxide) เป็นหนึ่งในก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas: GHG) ที่มีอยู่ในชั้นบรรยากาศ ซึ่งดูดซับสะสมรังสีอินฟราเรดจากแสงอาทิตย์และคายความร้อนบางส่วนออกมาสู่พื้นโลก หากมีก๊าซเรือนกระจกบางชนิดอย่างคาร์บอนมากเกินไปก็จะก่อให้เกิดความร้อนสะสมที่ชั้นบรรยากาศ โลกจึงมีอุณหภูมิสูงขึ้น นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศตามมาจนเป็นปัญหาทางสิ่งแวดล้อม ณ ปัจจุบัน 

ก๊าซเรือนกระจกที่เป็นตัวการสำคัญนั้นมักเกิดจากฝีมือของมนุษย์ในภาคครัวเรือน เศรษฐกิจ และอุตสาหกรรม จากการเผาไหม้เชื้อเพลิง การตัดไม้ทำลายป่า การหมักหมมของซากพืชและสัตว์ ของเสียจากภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม หรือปฏิกิริยาเคมีในภาคอุตสาหกรรม

Green House Gas

โดยก๊าซเรือนกระจกชนิดหลักที่ถูกควบคุมการปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศซึ่งกำหนดผ่านการร่วมมือของนานาประเทศในพิธีสารโตเกียว ได้แก่

  • คาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) เป็นชนิดที่ถูกปล่อยเข้าสู่ชั้นบรรยากาศมากที่สุดกว่า 70% จากการเผาไหม้เชื้อเพลิง การตัดไม้ทำลายป่า  
  • มีเทน (CH4) มีปริมาณมากเป็นอันดับ 2 ส่วนใหญ่จากการกำจัดขยะด้วยการฝังกลบ การเผาไหม้เชื้อเพลิงธรรมชาติ และการทำเกษตรกรรม ปศุสัตว์ 
  • ไนตรัสออกไซด์ (N2O) มักมาจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล การใช้ปุ๋ย และอุตสาหกรรมเคมีที่ใช้กรดไนตริก  
  • กลุ่มก๊าซอนุพันธ์ของฟลูออรีน อย่าง ไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน (HFCs) เพอร์ฟลูออโรคาร์บอน (PFCs) ซัลเฟอร์เฮกซะฟลูออไรด์ (SF6) หรือไนโตรเจนไตรฟลูออไรด์ (NF3) ซึ่งมาจากภาคอุตสาหกรรมเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะสารทำความเย็น ตัวทำละลาย สารตั้งต้นการผลิต และผลผลิตพลอยได้จากกระบวนการต่าง ๆ 

 

คาร์บอนฟุตพริ้นท์ คืออะไร  มีกี่ประเภท?

คาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint) หรือรอยเท้าคาร์บอน คือ ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยออกมาเองโดยธรรมชาติและจากกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อมก็ตาม อย่างการใช้พลังงาน การทำเกษตรกรรม การขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม การจัดการของเสีย การขนส่งสินค้า หรือการตัดไม้ทำลายป่า 

โดยคาร์บอนฟุตพริ้นท์จะแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก ดังนี้

1. คาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร (Carbon Footprint for Organization)

คาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร กล่าวถึงปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากกิจกรรมต่าง ๆ ขององค์กร ซึ่งมักถูกใช้เป็นตัวชี้วัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของภาคอุตสาหกรรมในหน่วย “คาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (CO2eq)” เช่น กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (kgCO2eq) หรือตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (tCO2eq) 

ยิ่งมีปริมาณคาร์บอนฟุตปริ้นท์มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งส่งผลกระทบต่อโลกเรามากขึ้นเท่านั้น โดยแหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะแบ่งขอบเขตออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่

  1. การปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยตรง (Direct Emissions) อย่างการเผาไหม้ของเครื่องจักร การใช้สารเคมีบำบัดน้ำเสีย หรือการใช้ยานพาหนะ  
  2. การปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากกิจกรรมการใช้พลังงาน (Energy Indirect Emissions) อย่างการซื้อพลังงานไฟฟ้า ความร้อน หรือไอน้ำมาใช้ในองค์กร
  3. การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมอื่น ๆ (Indirect Emissions) อย่างการใช้วัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ การเดินทางของพนักงานด้วยพาหนะอื่น การจัดสัมนานอกสถานที่หรือออกอีเวนท์

2. คาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ (Carbon Footprint for Product)  

คาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ หมายถึง ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ถูกสร้างออกมาตัวผลิตภัณฑ์หรือตลอดวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์นั้น ๆ (Product Life Cycle) ตั้งแต่ขั้นตอนการได้มาของวัตถุดิบ การผลิต การจัดจำหน่าย การใช้งาน จนถึงการจัดการของเสีย ซึ่งจะวัดออกมาในหน่วยของคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าเช่นกัน

Carbon footprint

 

โลกและองค์กรได้ประโยชน์จากคาร์บอนฟุตพริ้นท์อย่างไร

เมื่อองค์กรทราบถึงคาร์บอนฟุตพริ้นท์ที่ปล่อยออกไปในแต่ละปีหรือโดยภาพรวม ก็จะสามารถวางแผนลดการปล่อยคาร์บอน ดูดซับคาร์บอนที่มีอยู่ และชดเชยคาร์บอน (Carbon Offsetting) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และมุ่งสู่เป้าหมายถัดไป คือ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิลดลงจนเป็นศูนย์ (Net Zero) 

อธิบายให้เข้าใจง่ายขึ้นก็คือว่า การศึกษาและนำคาร์บอนฟุตพริ้นท์มาใช้กับการดำเนินองค์กรจะนำไปสู่การตระหนักรู้และจัดการกับปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น เอื้อต่อการเกิดประโยชน์ทั้งต่อสังคม โลก และองค์กรในภาคอุตสาหกรรมอีกมาก ยกตัวอย่างเช่น

  • ประเมินปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากองค์กร และเข้าใจสาเหตุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มีนัยสำคัญ เพื่อหาแนวทางลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์
  • นำปริมาณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ไปใช้ต่อยอดการวางแผนการดำเนินงานบริษัท การพัฒนาสินค้าที่สอดคล้องกับการรักษ์โลก การวางแผนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือชดเชยคาร์บอน
  • มีส่วนช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอันเป็นสาเหตุสำคัญของภาวะโลกร้อน โลกเดือด และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ง่ายขึ้น
  • ตอบสนองความต้องการของกลุ่มลูกค้าที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมและปัญหาสภาพอากาศ ตอกย้ำว่าการร่วมแรงร่วมมือของผู้บริโภคนั้นมีความหมาย 
  • ขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาในภาคอุตสาหกรรมด้วยกันเอง เพื่อให้ผู้บริโภคในสังคมได้รับประโยชน์สูงสุด  
  • ลดค่าใช้จ่าย ลดใช้ทรัพยากรและพลังงาน เพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับองค์กร ทำให้เกิดการดำเนินงานเป็นไปอย่างยั่งยืนและได้เปรียบทางการค้า

จะเห็นได้ว่า คาร์บอนฟุตพริ้นท์ เป็นส่วนสำคัญอย่างมากที่จะช่วยขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมไปสู่การพัฒนาให้ดียิ่งกว่า โดยที่โลกไม่ถูกทำร้ายเพิ่มขึ้นเช่นวันวาน การลดปล่อยคาร์บอนหรือก๊าซเรือนกระจกจึงเป็นภารกิจเร่งด่วนที่ภาคธุรกิจอย่างเบเยอร์ยึดมั่นมาโดยตลอด ด้วยหวังว่าจะเป็นฟันเฟืองหนึ่งของการเสริมสร้างสังคม Carbon Neutrality และมุ่งสู่เป้าหมายใหญ่ Net Zero Emissions ร่วมกันในอนาคต

ปัจจุบันเบเยอร์เป็นองค์กรที่ได้รับมอบใบประกาศรับรองคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร (Carbon Footprint for Organization: CFO) จากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรืออบก. ซึ่งตอกย้ำให้เห็นว่า การดำเนินงานของเบเยอร์นั้นใส่ใจโลก และพร้อมขับเคลื่อนสู่ธุรกิจสีเขียวอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน 

ยิ่งไปว่านั้น เบเยอร์ยังผ่านการรับรองฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ (Carbon Footprint of Product) และเป็นรายแรกในกลุ่มผลิตภัณฑ์สีทาอาคารที่ผ่าน ฉลากลดโลกร้อน (Carbon Footprint Reduction: CFR) จากองค์การอบก. ที่จะช่วยให้ผู้บริโภคทราบถึงปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ผลิตภัณฑ์ปล่อยออกมา ถือเป็นปัจจัยสำคัญประกอบการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคยุคใหม่ และผลักดันให้ภาคอุตสาหกรรมหันมาสนใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้นนั่นเอง


References:

  1. Overview of Greenhouse Gases | US Environmental Protection Agency
  2. ภาวะเรือนกระจก Greenhouse effect | กรมอุตุนิยมวิทยา
  3. คาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กรคือ | Thai Carbon Label
  4. คาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์คือ  | Thai Carbon Label
  5. แนวทางการประเมินประสิทธิภาพองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (Local Performance Assessment: LPA) เรื่อง รายงานข้อมูลปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก | องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)) เรื่องGHG_LPA.pdf (tgo.or.th)
  6. Carbon Footprint รอยเท้าที่นักลงทุนควรรู้จัก | SET Investnow
SHARE :
Please select the search topic and type related keywords