เนื่องด้วยเป้าหมาย Net Zero Emission หรือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ของไทยในปี 2608 (ค.ศ. 2065) ภาษีคาร์บอนจึงเริ่มเข้ามามีบทบาทในภาคธุรกิจมากขึ้น โดยเป็นกลไกควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต้นเหตุโลกร้อนและสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง ยกระดับสินค้าคาร์บอนต่ำและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจ รวมถึงช่วยปรับพฤติกรรมของผู้บริโภคให้ใส่ใจสิ่งแวดล้อมและรักษ์โลกมากขึ้น ก่อนจะไปถึงวันที่เรียกเก็บภาษีคาร์บอนอย่างจริงจัง มาทำความเข้าใจภาษีตัวนี้กัน
ภาษีคาร์บอน คืออะไร?
ภาษีคาร์บอน (Carbon Tax) คือ ค่าธรรมเนียมหรือภาษีซึ่งภาครัฐบาลเรียกเก็บจากองค์กรภาคธุรกิจที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกระบวนการผลิตและการบริการในปริมาณมากเกินเกณฑ์ ไม่ว่าจะ คาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) มีเทน (CH4) ไนตรัสออกไซด์ (N2O) หรือก๊าซกลุ่มฟลูออรีน (G-Gases) โดยเป็นไปตามหลักการ ผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย (Polluter Pays Principle)
เป้าหมายเพื่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมขององค์กรภาคธุรกิจและผู้บริโภค เอื้อให้เกิดการพัฒนา เพิ่มศักยภาพ และสร้างสรรค์เทคโนโลยีที่ทำให้การผลิตสินค้าคาร์บอนต่ำเป็นจริง พร้อมผู้บริโภคที่ตระหนักรู้และใส่ใจในปัญหาสิ่งแวดล้อมหรือโลกร้อนที่เราและลูกหลานในอนาคตต้องเผชิญ
โดยหลักแล้วประเภทของภาษีคาร์บอนแบ่งออกเป็น 2 ทาง ได้แก่
1) ภาษีคาร์บอนทางตรง (Direct Emission)
คิดคำนวนจากปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยจากกระบวนการผลิตสินค้าโดยตรง จึงมีอัตราภาษีสูงกว่า เช่น การผลิตไฟฟ้าจากฟอสซิล การเผาไหม้ของเครื่องจักรในโรงงาน การเผาขยะ การบำบัดน้ำเสีย การเผาไหม้ของยานพาหนะ หรือการผลิตปูนซีเมนต์และเคมีภัณฑ์
2) ภาษีคาร์บอนทางอ้อม (Indirect Emission)
คิดคำนวนจากปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่มาจากการบริโภค เช่น การซื้อพลังงานมาใช้ในองค์กร การใช้ผลิตภัณฑ์ก่อก๊าซเรือนกระจกอย่างเหล็ก กระดาษ สี เฟอร์นิเจอร์ หรือเครื่องใช้ไฟฟ้า
กรมสรรพสามิตผู้มีบทบาทในเรื่องนี้จะปรับใช้มาตรการภาษีคาร์บอนอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยคาดว่าจะเริ่มในปีงบประมาณ 2568 เพื่อผลักดัน ส่งเสริมให้ภาคธุรกิจและผู้บริโภคเตรียมพร้อมรับมือและปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงนี้ได้ จนก้าวเข้าสู่การเป็นการกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2593 รวมถึงการปล่อยก๊าซเรือกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ในปี 2608
ในต่างประเทศยังนำร่องเรียกเก็บภาษีคาร์บอนข้ามพรมแดน (Carbon Border Tax) ซึ่งเป็นภาษีนําเข้าที่เรียกเก็บจากประเทศที่ไม่มีการบังคับใช้กฎหมายภาษีคาร์บอน ป้องกันสินค้าคาร์บอนสูงไหลเข้ามาในประเทศ เสมือนการกระตุ้นให้นานาประเทศที่ยังไม่มีมาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกหันมาสนใจประเด็นสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง และยังอาจช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของภาคธุรกิจได้อีกทางหนึ่งด้วย
ภาษีคาร์บอน กระทบต่อผู้ประกอบการและผู้บริโภคหรือไม่
เมื่อพูดว่าเก็บภาษีก็อาจมีความกังวลว่าอาจกระทบถึงผู้บริโภค แต่ภาษีคาร์บอนในระยะแรกตามกำหนดของกรมสรรพสามิตจะไม่กระทบหรือผลักภาระไปให้ผู้บริโภค เนื่องจากจะนำภาษีสรรพสามิตที่เก็บกันอยู่แล้ว อย่าง ภาษีรถยนต์ และภาษีน้ำมัน มาผูกกับปริมาณการปล่อยคาร์บอนแล้วแปลงเป็นภาษีคาร์บอน เน้นจัดเก็บภาษีจากต้นน้ำซึ่งเป็นแนวทางที่ใช้กันในระดับสากล โดยคิดคำนวณจากปริมาณคาร์บอนส่วนเกินร่วมกับอัตราภาษีคาร์บอน
อย่างการจัดเก็บภาษีรถยนต์ที่ผ่านมาก็ถือเป็นภาษีคาร์บอนทางอ้อมจากการเผาไหม้ฟอสซิล โดยจัดเก็บตามกระบอกสูบ ปัจจุบันเปลี่ยนไปเก็บทางตรงจากปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ โดยมีแนวทางเบื้องต้นให้รถยนต์ที่ปล่อยคาร์บอนสูงเสียภาษีสูงตาม ซึ่งอาจต้องเสียเพิ่มขึ้นอีกในอนาคตด้วย ดังนี้
- รถยนต์ปล่อยคาร์บอนเกิน 200 กรัมต่อกิโลเมตร จะเสียภาษี 35% ในปี 2026 และ 38% ในปี 2030
- รถยนต์ปล่อยคาร์บอน 151-200 กรัมต่อกิโลเมตร จะเสียภาษี 30% ในปี 2026 และ 33% ในปี 2030
- รถยนต์ปล่อยคาร์บอน 121-150 กรัมต่อกิโลเมตร จะเสียภาษี 25% ในปี 2026 และ 29% ในปี 2030
- รถยนต์ปล่อยคาร์บอน 101-120 กรัมต่อกิโลเมตร จะเสียภาษี 22% ในปี 2026 และ 26% ในปี 2030
- รถยนต์ปล่อยคาร์บอนต่ำกว่า 100 กรัมต่อกิโลเมตร จะเสียภาษี 13% ในปี 2026 และ 15% ในปี 2030
และสำหรับภาษีน้ำมัน ตามอัตราปกติน้ำมันดีเซล 1 ลิตร จะถูกเก็บภาษีที่ 6.44 บาท โดยใน 1 ลิตรนี้ ดีเซลจะปล่อยคาร์บอนราว 0.0026 ตันคาร์บอน ซึ่งปริมาณคาร์บอนที่ถูกปล่อยออกมานี้เองที่จะนำมาคิดเป็นภาษีคาร์บอนต่อไป
หากยึดตามนโยบายเก็บภาษีคาร์บอนเริ่มแรกจากกรมสรรพสามิต ในอัตราส่วน 200 บาทต่อตันคาร์บอน (ราว 6 ดอลลาร์ต่อตันคาร์บอน) จะเท่ากับว่า ในน้ำมันดีเซล 1 ลิตร จะต้องเสียภาษีคาร์บอนเฉลี่ย 0.46 บาท หรือ 46 สตางค์ ซึ่งใกล้เคียงกับสิงคโปร์ ประเทศแรกในอาเซียนที่เก็บภาษีคาร์บอน โดยอาจมีการปรับภาษีเพิ่มขึ้นเป็นขั้นบันไดในอนาคต
จะเห็นได้ว่า การนำภาษีคาร์บอนไปผูกกับภาษีสรรพสามิตนี้จะไม่เพิ่มภาระภาษีให้กับผู้บริโภค และยังช่วยให้ภาคธุรกิจไม่เสียประโยชน์ด้านการส่งออกระหว่างรอ พ.ร.บ. โลกร้อน (Climate Change) หรือพ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอนาคตอันใกล้
ที่สำคัญ การผูกภาษีคาร์บอนกับภาษีสรรพสามิตเป็นการแก้ไขกฏกระทรวงซึ่งสามารถดำเนินการได้เลย เสนอคณะรัฐมนตรีเพียงอย่างเดียว ไม่ต้องออกเป็นพ.ร.บ. ใหม่ซึ่งใช้เวลาดำเนินการนานกว่า
ภาษีคาร์บอนช่วยโลกอย่างไร
ภาษีคาร์บอนนั้นมีประโยชน์ต่อโลกของเราอย่างมาก เพราะภาษีนี้มีจุดกำเนิดมาก็เพื่อลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่มาจากภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ก่อให้เกิดก๊าซพิษสู่ชั้นบรรยากาศ ภาษีคาร์บอนจึงมีส่วนช่วยควบคุมและลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกโดยรวม ทำให้โลกได้รับผลกระทบน้อยลง ชะลอภาวะโลกร้อนหรือการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศได้ในอนาคต
นอกเหนือจากประโยชน์ทางด้านสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นเป้าหมายหลักแล้ว ภาษีคาร์บอนยังมีประโยชน์ต่อภาคธุรกิจในหลายแง่มุม เช่น
- กระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ปรับปรุง และพัฒนาเทคโนโลยีในการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพมากขึ้น เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ปล่อยคาร์บอนต่ำ และปลอดภัยต่อผู้บริโภค
- เอื้อต่อการแข่งขันทางการค้าหรือขยายตลาด ผิดกับสินค้าที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมซึ่งจะมีภาระทางภาษีมากกว่า
- ส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดอย่าง แสงอาทิตย์ ลม หรือน้ำ ช่วยลดการใช้พลังงานธรรมชาติที่ก่อก๊าซเรือนกระจก ส่งผลให้ต้นทุนในส่วนนึ้ลดต่ำลงในระยะยาว
ภาษีคาร์บอนที่ถูกจัดเก็บในแต่ละประเทศอาจมีแนวทาง ข้อบังคับ หรืออัตราภาษีที่ต่างกันไป ถือเป็นเรื่องที่ภาคธุรกิจจะต้องเรียนรู้ ปรับตัว เพื่อเตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงและเปิดโอกาสการค้ารูปแบบใหม่ ๆ ในเวทีโลก
และเราก็จะได้เห็นว่า ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมนั้นสำคัญ ไม่ว่าจะโลกร้อน โลกเดือด ก๊าซเรือนกระจก หรือปริมาณคาร์บอน ล้วนเชื่อมโยง ส่งผลกระทบต่อกัน นานาประเทศจึงเห็นพ้องต้องกันว่าถึงเวลาหันกลับมารับผิดชอบและดูแลโลกนี้ให้ดี เพื่อให้เป้าหมาย Net Zero เป็นจริงเร็วขึ้น และสามารถรอดพ้นจากผลกระทบที่เลวร้ายไปได้