เมื่อนึกถึง โอโซน (Ozone) หลายคนก็มักนึกถึงอากาศบริสุทธิ์ แต่จริง ๆ แล้ว โอโซนนั้นเป็นพิษต่อมนุษย์ แต่มีประโยชน์และสำคัญกับโลกของเราอย่างมากจนนานาประเทศ จัดตั้งอนุสัญญาการป้องกันชั้นบรรยากาศโอโซนขึ้นมาเป็นข้อกำหนดร่วมกัน จนทำให้วันที่ 16 กันยายนของทุกปี กลายเป็นวันโอโซนโลกจวบจนปัจจุบัน มาทำความรู้จักโอโซนกันให้มากขึ้นกัน
โอโซน (Ozone: O3) คืออะไร
โอโซน (O3) เป็นก๊าซไวต่อการเกิดปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติอย่างฟ้าผ่า ฟ้าแลบ หรือแสงอาทิตย์ และมนุษย์เป็นผู้สร้างขึ้นจากรังสีอัลตราไวโอเลต (UV) หรือสนามแม่เหล็กไฟฟ้าความถี่สูง โดยพบมากกว่า 90% ในบรรยากาศชั้นสตราโทสเฟียร์ (Stratosphere) เหนือระดับพื้นดินประมาณ 10-50 กิโลเมตร อีก 10% จะอยู่ในชั้นโทรโพสเฟียร์หรือเหนือพื้นดินราว 0-10 กิโลเมตร
ชั้นโอโซนจะทำหน้าที่กรองหรือกั้นรังสีอัลตราไวโอเลต (UV) จากดวงอาทิตย์ โดยเฉพาะรังสี UV-B ที่มีช่วงคลื่นยาวราว 280-320 นาโนมิเตอร์ ซึ่งเป็นช่วงที่อันตรายต่อสิ่งมีชีวิตในโลกอย่างมาก จึงเรียกได้ว่าโอโซนมีส่วนปกป้องพืช สัตว์ มนุษย์จากรังสีอันตรายนั่นเอง และกระบวนการนี้ยังส่งผลให้อุณหภูมิในชั้นบรรยากาศนี้เพิ่มสูงขึ้นด้วย
ยิ่งไปกว่านั้น โอโซนยังมีประโยชน์ในด้านอื่น ๆ อีกด้วย เช่น กำจัดกลิ่นไม่พึงประสงค์ ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อโรค สลายก๊าซพิษ ช่วยให้อากาศบริสุทธิ์ ฟอกสี และบำบัดน้ำเสีย จึงถูกนำมาใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ มากมาย
แต่เกริ่นไปแล้วว่า โอโซนเป็นพิษต่อมนุษย์ โดยโอโซนระดับความสูง 0-2 กิโลเมตรจากพื้นดิน (Ground Level Ozone) ซึ่งนับเป็น 10% จากทั้งหมด มาจากไอเสียของยานพาหนะหรือโรงงานอุตสาหกรรม ปฏิกิริยาของสาร VOCs จากผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ หรือมลพิษทางอากาศ ดังนั้น ที่เราชอบพูดกันว่า “สูดโอโซนบริสุทธิ์” จึงเป็นเรื่องเข้าใจผิดและไม่สามารถทำได้ หากเราสูดโอโซนเหล่านี้เข้าไปอาจกระทบต่อระบบทางเดินหายใจ อย่างจมูก คอ และปอด ทำให้เกิดอาการไอ ระคายคอ คัดจมูก หายใจลำบาก หรือเจ็บหน้าอกตามมา
โดยความรุนแรงของอาการก็จะแตกต่างกันไปตามปริมาณโอโซนที่เข้าสู่ร่างกาย คนบางกลุ่มอาจมีความเสี่ยงอาการรุนแรงหรือแย่ลงได้เร็ว โดยเฉพาะผู้ป่วยหอบหืด หลอดลมอักเสบ และถุงลมโป่งพอง เด็กที่ปอดยังพัฒนาไม่เต็มที่ และผู้สูงอายุ
ผลกระทบของการสูญเสียโอโซน
แม้โอโซนก่อให้เกิดอันตรายต่อเรายามสูดเข้าไปโดยตรง แต่ต่อโลกไม่เป็นแบบนั้น เพราะการสูญเสียโอโซนหรือชั้นโอโซนบางลงส่งผลให้บาเรียของโลกหายไป รังสีอัลตราไวโอเลตที่ควรถูกดูดซับจะส่งตรงถึงสิ่งมีชีวิตมากขึ้น ทำให้เกิดปัญหาผิวหนัง มะเร็งผิวหนัง ต้อเนื้อ ต้อลมในคน พืชผลแคระแกรน วัสดุเสื่อมสภาพ หักพังได้ไวขึ้น
โดยสาเหตุของการสูญเสียโอโซนในช่วงหลายทศวรรษก่อนก็มาจากสารเคมีในภาคอุตสาหกรรมหรือมาจากน้ำมือมนุษย์เรานี่เอง โดยสารที่เป็นตัวการทำลายโอโซนนั้นคือ สารฮาโลคาร์บอน (Halocarbon) ที่ประกอบด้วยคลอรีน (Cl) ฟลูออรีน (F) โบรมีน(Br) คาร์บอน (C) และไฮโดรเจน (H) ซึ่งจัดเป็นกลุ่มก๊าซเรือนกระจกด้วย ได้แก่
- สารคลอโรฟลูออโรคาร์บอน (Chlorofluorocarbons: CFCs)
- สารไฮโดรคลอโรฟลูออโรคาร์บอน (Hydrochlorofluorocarbons: HCFCs)
- สารไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน (Hydrofluorocarbons: HFCs)
- สารเปอร์ฟลูออโรคาร์บอน (Perfluorocarbons: PFCs)
- สารซัลเฟอร์เฮกซาฟลูออไรด์ (Sulphur Hexafluoride: SF6)
โดยสาร CFCs อย่าง ฟรีออน-12 (CCl2F2) ซึ่งเป็นสารทำความเย็นในตู้เย็น เครื่องปรับอากาศ และสารในกระป๋องสเปรย์ รวมถึงเป็นของเสียจากการผลิตโฟมพลาสติก ถือเป็นสารหลักที่ถูกแบนอย่างจริงจัง เนื่องจากเป็นตัวการสำคัญที่ทำลายโอโซน จนเกิดเป็นรูโหว่โอโซนทั่วโลก จนรังสี UV ส่องตรงถึงสิ่งมีชีวิตในโลก
นานาประเทศจึงทำข้อตกลงร่วมกันที่เรียกว่า พิธีสารมอนทรีออล (Montreal Protocal) ในปี 1987 ในการลดและเลิกการผลิตและใช้สาร CFCs เพื่อช่วยลดปัญหาช่องโหว่โอโซน และฟื้นฟูชั้นโอโซนให้กลับมาเป็นปกติอีกครั้ง ซึ่งตามคาดการณ์แล้วจะกลับมาสมบูรณ์ในปี 2070
ปัจจุบันตามรายงานฉบับใหม่ขององค์การสหประชาชาติระบุว่า ขณะนี้ชั้นโอโซนโลกกำลังฟื้นตัวอย่างช้า ๆ โดยในปี 2040 จะฟื้นฟูเต็มที่สำหรับที่อื่น ๆ ทั่วโลก ปี 2045 สำหรับขั้วโลกเหนือ และปี 2066 สำหรับขั้วโลกใต้
ด้วยเล็งเหตุความสำคัญที่มากมายของโอโซน สีเบเยอร์จึงขอเป็นส่วนหนึ่งในการรักษ์โลกผ่านเทคโนโลยีการผลิตสียุคใหม่ AVID (Automatic Vacuum Inline Dispersion) เครื่องผลิตอินไลน์อัตโนมัติระบบสุญญากาศ ทำให้กระบวนการผลิตมีประสิทธิภาพมากขึ้น
โดยกระบวนนการนี้ลดการใช้พลังงานได้ถึง 85.39% ต่อปี ใช้พลังงานทดแทนจากแสงอาทิตย์ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต้นเหตุโอโซนที่ลดลงสู่ชั้นบรรยากาศได้ถึง 335 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี และยังมีระบบใช้น้ำหมุนเวียน ช่วยลดปริมาณน้ำเสีย 100% ส่งมอบผลิตภัณฑ์คุณภาพเพื่อประโยชน์ในการใช้งานสูงสุด พร้อมรักษาโลกให้น่าอยู่เพื่อลูกหลานของเราในวันข้างหน้า