อิทธิพลของสีที่มีต่อร่างกายและจิตใจ

สิ่งที่อยู่รอบๆตัวเรานั้น ล้วนมีอิทธิพลต่ออารมณ์ ความรู้สึก ความคิด ไปจนถึงปฏิกิริยาตอบสนองทางกายของเรา สีก็เช่นกันค่ะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่มีผลต่อปฏิกิริยาทางใจและทางร่างกาย เนื่องจากสีจะไปกระตุ้นต่อมไพเนียล (Pineal Gland) ซึ่งเป็นต่อมไร้ท่ออยู่เหนือสมอง ที่ส่งผลถึงฮอร์โมน ความรู้สึก จิตใจ อารมณ์ของแต่ละบุคคล ในเชิงจิตวิทยา สีมีความเกี่ยวข้องกับอารมณ์ของคนเรา พูดง่ายๆก็คือสีแต่ละสีมีผลต่อสภาวะร่างกายที่แตกต่างกันออกไปค่ะ จะขอยกตัวอย่างง่ายๆนะคะ เช่น การที่เรามองดูสีแดงก็จะทำให้การเต้นของหัวใจของเราเร็วขึ้น ซึ่งส่งผลต่อการเพิ่มระดับของอะดรีนาลีนที่ถูกสูบฉีดเข้าไปในกระแสเลือด ดังนั้นหากเพื่อนๆเข้าใจถึงผลกระทบของสีแต่ละสี เพื่อนๆก็จะสามารถนำความรู้นี้มาใช้สร้าง Mood & Tone ให้กับบ้านของเราได้ค่ะ

 

ก่อนอื่นจะขอแบ่งประเภทของสีแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มหลักๆนะคะ  คือ สีโทนเย็น (Cool Colors) กับ สีโทนร้อน (Warm Colors) เริ่มกันที่สีโทนเย็น เช่น สีเขียวเหลือง สีเขียว สีฟ้า สีน้ำเงิน และสีม่วง จุดประกายความรู้สึกสงบ ความปลอดภัย ความเงียบ ความสุขุมเยือกเย็นไปจนถึงความรู้สึกเศร้าและหดหู่ได้เหมือนกันค่ะ ในขณะที่สีโทนร้อน ได้แก่ สีเหลือง สีส้ม สีแดง และสีม่วงแดง เป็นต้น กระตุ้นอารมณ์จากความรู้สึกอบอุ่น ความกระฉับกระเฉง ความตื่นเต้น ไปจนถึงความรู้สึกไม่เป็นมิตรและความโกรธ

 

สีโทนเย็น (Cool Colors)

หากเพื่อนๆต้องการความสงบ จินตนาการ หรืออยากให้สมองแล่น เพื่อนๆอาจใช้สีม่วงเพื่อสร้างสมดุลระหว่างแรงกระตุ้นและความเงียบสงบซึ่งจะช่วยส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ ในขณะที่สีม่วงอ่อนช่วยสร้างบรรยากาศที่ปลอดโปร่งและลดความตึงเครียด จึงเป็นสีที่เหมาะสำหรับทาบ้าน ห้องรับแขก หรือห้องทำงานค่ะ

 

ถ้าเพื่อนๆต้องการสภาพแวดล้อมที่สงบเย็น สบายๆ เพื่อนๆอาจจะต้องลองใช้สีเขียวหรือสีน้ำเงินดูค่ะ ทั้งสองสีนี้เป็นสีที่เหมาะกับการพักผ่อน เนื่องจากตามหลักวิทยาศาสตร์แล้ว สีเขียวเป็นสีที่ดวงตาของเรามองเห็นโดยตรงจากจอตา (Retina) หรือที่บางคนเรียกว่า จอประสาทตา หรือจอรับภาพของตา ทำให้กล้ามเนื้อตาตึงเครียดน้อยกว่าค่ะ

ส่วนสีฟ้าเป็นสีที่แนะนำให้ใช้กับห้องที่มีผู้คนผ่านไปมาพลุกพล่าน หรือห้องที่คนอื่นๆจะใช้เวลาในห้องนานๆ เนื่องจากโดยทั่วไปแล้วสีฟ้าเป็นสีที่ช่วยให้ความรู้สึกสงบและสบายใจ ซึ่งสามารถช่วยลดอัตราการเต้นของหัวใจและช่วยลดความดันโลหิตได้ ดังนั้นจึงเป็นความคิดที่ดีเลยหากจะใช้สีฟ้าทาห้องนอนหรือห้องน้ำ เพราะจะช่วยให้เพื่อนๆรู้สึกผ่อนคลายทั้งทางใจและทางกายค่ะ

 

สีโทนร้อน (Warm Colors)

เคยสังเกตกันไหมคะเพื่อนๆว่าร้านอาหารชอบใช้สีอะไรในการตกแต่ง นี่เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของการใช้สีช่วยกระตุ้นปฏิกิริยาทางร่างกายและทางความรู้สึก ถ้าหากเพื่อนๆต้องการสร้างบรรยากาศที่กระตุ้นความหิวหรือความอยากรับประทานอาหาร คุณอาจจะต้องใช้สีโทนร้อน แบบสีเหลือง สีส้ม หรือสีแดงค่ะ เนื่องจากสีเหล่านี้สื่อถึงอาหารและสามารถช่วยเรียกน้ำย่อยทำให้ผู้ที่ได้รับชมเกิดอาการรู้สึกหิวขึ้นมาได้ ทั้งนี้สีที่สว่างอย่างสีเหลืองจะทำปฏิกิริยาสะท้อนแสงมากกว่า ซึ่งอาจส่งผลต่อดวงตาทำให้รู้สึกแสบตาไปจนถึงระคายเคืองตาเวลาที่มองมากเกินไปหรือนานเกินไป ดังนั้นเราอาจใช้สีอื่นเข้ามาช่วยลดความสว่างลงตามความเหมาะและความเข้ากันของคู่สี สรุปง่ายนะคะว่าสีโทนร้อนเป็นสีที่ให้ความรู้สึกมีชีวิตชีวา กระตุ้นความสนใจ ช่วยให้เจริญอาหาร จึงเหมาะกับห้องรับประทานอาหาร ห้องนั่งเล่น และห้องรับแขกค่ะ

 

สีกลาง (Neutral Colors)

สีกลางหรือสีเอิร์ธโทน หรือก็คือสีที่ไม่ได้อยู่ในโทนเย็นหรือโทนร้อนค่ะ ได้แก่ สีดำ สีขาว สีเทา รวมไปถึงสีน้ำตาล สีเบจ และสีครีม สีกลุ่มนี้จะให้ความรู้สึกที่อบอุ่นและเรียบง่ายสบายตา ซึ่งเหมาะกับทุกห้องของบ้านเลยค่ะ แต่ก็มีข้อจำกับางอย่างนะคะ เช่น การใช้สีดำหรือสีน้ำตาลเข้มที่ต้องใช้สีคู่อ่อนมาใช้จับคู่เพื่อไม่ให้ห้องดูแคบหรือรู้สึกอึดอัด เช่นสีน้ำตาลกับสีครีม หรือสีดำกับสีเทา เป็นต้นค่ะ

 

สีพาสเทล (Pastel Colors)

สีพาสเทลคือ สีที่ผสมกับสีขาวเพื่อลดความเข้มสดของแม่สีลง เช่น สีเขียวมิ้นท์ ที่ให้ความรู้สึกอบอุ่น อ่อนหวาน อ่อนเยาว์ นุ่มนวลชวนฝัน และผ่อนคลาย นิยมใช้ตกแต่งบ้านสไตล์วินเทจย้อนยุค และเหมาะกับห้องที่ไม่ต้องการบรรยากาศจริงจังค่ะ

 

สีเอกรงค์ (Monochromes)

คือ การใช้สีเพียงสีเดียวเด่นชัด แต่มีการลดหลั่นน้ำหนักสีเพื่อให้เกิดความเข้มอ่อนค่ะ ยกตัวอย่างเช่นเช่น สีดำ-เทา-ขาว ให้ความรู้สึกกลมกลืนแต่มีมิติ สามารถนำไปใช้ได้กับทุกห้องได้เลยค่ะเพียงแต่ว่าอาจจะต้องยึดตามหลักโทนสีร้อน-เย็นมาควบคู่ด้วยค่ะ

 

หากเพื่อนๆกำลังคิดที่จะทาสีบ้าน ผนัง หรือตกแต่งห้องใหม่ สามารถนำเทคนิคเรื่องอิทธิพลของสีไปใช้ในการวางแผนการเลือกใช้สีสำหรับพื้นที่หรือห้องต่างๆ เพื่อช่วยกระตุ้นหรือสร้างปฏิกิริยาที่ต้องการให้เหมาะสมกับแต่ละห้องหรือวัตถุประสงค์ของพื้นที่ส่วนนั้นๆได้เลยค่ะ

SHARE :
Tags
Please select the search topic and type related keywords